ประเพณีเวียนเทียนทางน้ำกลางกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา

ป้ายกำกับ

,

วัดติโลกอารามจมอยู่ในกว๊านพะเยาเนื่องจากในปี พ.ศ. 2482 กรมประมงสร้างประตูกั้นน้ำในกว๊านพะเยาเพื่อกักเก็บน้ำ จึงทำให้บริเวณที่เป็นกว๊านพะเยาที่แต่เดิมเป็นชุมชนโบราณ และมีวัดอยู่เป็นจำนวนมากต้องจมน้ำ ในปี 2526 ชาวบ้านชุมชนวัดศรีอุโมงค์คำได้ขุดพบพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัยองค์โตที่ต่อมาเรียกขานว่า “หลวงพ่อศิลา” จึงได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดศรีอุโมงค์คำนานถึง 24 ปี ส่วนพื้นที่ของวัดติโลกอารามที่เคยอยู่ใต้น้ำ ก็ได้มีการบูรณะปรับแต่งจนเสร็จสิ้นใน ปี 2550 กลายเป็นวัดบนเกาะกลางน้ำ และได้อัญเชิญหลวงพ่อศิลากลับไปประดิษฐานคืนสู่กว๊านพะเยาตามตำแหน่งเดิม จนต่อมาก็ได้กลายเป็นประเพณีของชาวพะเยาที่ได้จัดพิธีเวียนเทียนกลางน้ำรอบวัดติโลกอารามและหลวงพ่อศิลาขึ้นทุกๆ ปี ในวันพระใหญ่ คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา การเวียนเทียนกลางน้ำนั้นจะเริ่มขึ้นในช่วงเย็น โดยพระภิกษุ-สามเณรจะสวดมนต์เริ่มพิธีที่ลานกลางน้ำ วัดติโลกอาราม ก่อนที่พระสงฆ์จะลงเรือนำขบวนเรือของชาวบ้านและนักท่องเที่ยวออกไปเวียนเทียนกลางน้ำรอบวัดติโลกอาราม 3 รอบท่ามกลางความปีติอิ่มเอิบใจของชาวพุทธที่มาร่วมงานประเพณี

กิจกรรม “เวียนเทียนทางน้ำ กลางกว๊านพะเยา” ปีหนึ่งจะจัดขึ้นเพียง 3 ครั้งเท่านั้น คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา เมื่อพระอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้าผู้คนจะนำดอกไม้ธูปเทียน จุดไฟสว่างไสว ล่องเรือไปเวียนเทียนบูชาองค์พระปฏิมากลางแม่น้ำ 3 รอบ

โดยกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าเวลา 06.00 น. เป็นพิธีทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งพระสงฆ์ จำนวน 109 รูป ณ บริเวณท่าเรือวัดติโลกอาราม จากนั้น เวลา 08.00 น. ชมขบวนแห่ข้าวใหม่ใส่บาตรหลวงทางน้ำในกว๊านพะเยา จากท่าเรือวัดติโลกอาราม ผ่านหน้าเรือนโบราณ อนุสาวรีย์พญางำเมือง และเข้าสู่ท่าน้ำวัดศรีโคมคำ ประกอบพิธีถวายข้าวทิพย์พระเจ้าตนหลวง ณ วัดศรีโคมคำ

สำหรับในช่วงค่ำ ตั้งแต่เวลา 16.30 น. เป็นกิจกรรมเวียนเทียนทางน้ำรอบวัดติโลกอารามกลางกว๊านพะเยา ซึ่งมีพระพุทธรูปหินทราย หลวงพ่อศิลา อายุกว่า 500 ปีประดิษฐานประจำวัดติโลกอาราม สักการะพร้อมชมศิลปะการแสดงทางวัฒนธรรม

ที่มา : ศูนย์บรรณสารและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยพะเยา / TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง

งานประเพณีบุญบั้งไฟ อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น

ป้ายกำกับ

,

งานประเพณีบุญบั้งไฟอําเภอกระนวน นับเป็นงานบุญบั้งไฟที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น หรือที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า “งานบั้งไฟแสน” ส่วนในพื้นที่อื่นจะจัดเป็นงานบั้งไฟหมื่น วัดจากความจุของดินระเบิด ที่บรรจุไว้ในบั้งไฟที่นําเข้าประกวดในงาน ว่าบั้งไฟของชุมชนใดจะขึ้นสูงที่สุด โดยงานบั้งไฟ อําเภอกระนวน จัดขึ้นในช่วงเดือน พฤษภาคม ของทุกปี ณ บริเวณสนามกีฬาหน้าที่ว่าการ อําเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น นอกเหนือการจัดประกวดบั้งไฟแล้วยังมีการประกวดการฟ้อนรํา การประกวดร้องเพลง ของเยาวชนบุคคลทั่วไป การประกวดการแต่งกายพื้นบ้าน

งานประเพณีบุญบั้งไฟ อําเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น จัดงานบุญบั้งไฟที่มีเอกลักษณ์คือซึ่งเป็นบั้งไฟแบบ 3 บั้ง มีบุษบกครอบอยู่บนราชรถ ลวดลายเป็นแบบลายสับ และมีช่างฝีมือที่ทำการแกะลายกนกที่เป็นเอกลักษณ์ พร้อมทั้งมีการถ่ายทอดให้ลูกหลาน ซึ่งประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอกระนวนนับเป็นงานบุญบั้งไฟที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ จ.ขอนแก่น

ในภาคอีสาน การจัดงานบุญบั้งไฟโดยรวมแล้วจะมีรูปแบบการจัดงานที่คล้ายคลึงกัน แต่จะมีจุดเน้นหรือที่เป็นจุดขายเพื่อการท่องเที่ยวที่แตกต่างกันไป สำหรับในพื้นที่ชนบท เช่น งานในระดับตำบล หรือหมู่บ้าน ยังเป็นการจัดงานที่ไม่ใหญ่โตมากนัก และชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดงานมาก แต่สำหรับการจัดงานในระดับอำเภอ หรือ ที่ถือเป็นงานของอำเภอขึ้นไป จะเป็นงานใหญ่ แต่ก็ยังคงการจัดงานที่เป็นการสืบสานประเพณีดั้งเดิม ตัวอย่างเช่น ประเพณีบุญบั้งไฟของตำบลหนองโก อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะมีจุดเด่นอยู่ที่การมีเอกลักษณ์ที่ศิลปะการทำลายกนก งดงาม เหนือกว่าชุมชนใกล้เคียง ซึ่งการทำลายกนกเป็นการสร้างรายได้ให้ชาวบ้านอีกทางหนึ่ง มีลักษณะบั้งไฟเอ้ที่แตกต่างคือ บั้งไฟแบบ 3 บั้ง (บั้งไฟยโสธรเป็นแบบ 1 บั้ง) ตามกำเนิดบั้งไฟพญาขอม (พระยาขอม) ซึ่งเกี่ยวพันกับบ้านกระนวน หูลุบเลา กิ่ง อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น และเกี่ยวข้องกับ บ้านเชียงแหว อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี (อาณาจักรหนองหารน้อยเมื่ออดีตกาล)

ที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย / โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

งานประเพณีบุญบั้งไฟเดือน 6 จังหวัดหนองคาย

ป้ายกำกับ

,

งานประเพณีบุญบั้งไฟเดือน 6 ประจำปี 2565 เพื่อส่งเสริมฟื้นฟูวัฒนธรรม รักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ของท้องถิ่นให้คงอยู่และถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง ที่เป็นความเชื่อในการขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นการสร้างสังคมและชุมชนให้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมและสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ

เวลา 15.00 น.วันนี้ (15 พฤษภาคม 2565) ณ บริเวณถนนริมโขงชุมชนวัดธาตุ ในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีบุญบั้งไฟเดือน 6 ประจำปี 2565 ที่เทศบาลเมืองหนองคาย ร่วมกับคณะกรรมการชุมชนวัดธาตุ ส่วนราชการต่าง ๆ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย จัดให้มีขึ้น ในระหว่างวันที่ 15-17 พฤษภาคม 2565 โดยมีการกำหนดรูปแบบการจัดกิจกรรมและมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไว้อย่างรัดกุม

นายอุรุยศ เอียสกุล นายกเทศมนตรีเมืองหนองคาย กล่าวว่า งานประเพณีบุญบั้งไฟเดือน 6 ประจำปี 2565 ที่จัดให้มีขึ้นในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมฟื้นฟูวัฒนธรรม รักษาไว้ซึ่งขนบธรรม เนียมประเพณีอันดีงาม ของท้องถิ่นให้คงอยู่และถ่ายทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง ที่เป็นความเชื่อในการขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของท้องถิ่น อำเภอ จังหวัดและของชาติ อีกทั้งยังเป็นการสร้างสังคมและชุมชนให้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมและสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ โดยเทศบาลเมืองหนองคายได้กำหนดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วยกิจกรรมขบวนแห่บั้งไฟ การประกวดขบวนแห่-ลวดลายบั้งไฟ ณ บริเวณถนนริมโขงชุมชนป่าพร้าว-ชุมชนวัดธาตุ , การจุดบั้งไฟเสี่ยงทาย ณ บริเวณพระธาตุหล้าหนอง และการจุดบั้งไฟตามประเพณี ณ บริเวณทุ่งหนองงูเหลือม มีขบวนแห่บั้งไฟ การประกวดขบวนแห่- ลวดลายบั้งไฟเข้าร่วมจำนวน 7 ขบวน ซึ่งชุมชนยอดแก้ว ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งขบวนแห่บั้งไฟ และลวดลายบั้งไฟ

สำหรับบุญบั้งไฟของชาวหนองคายนั้น ชาวหนองคายมีบุญบั้งไฟที่ถือเป็นประเพณีปฏิบัติกันมานานแล้ว ซึ่งเดือน 6 นั้นจัดขึ้นเพื่อบูชาพญาแถนและพระธาตุกลางน้ำวัดศิริมหาสังกัจจายน์ ส่วนบุญเดือน 7 จัดขึ้นเพื่อบูชาพญาแถนและหลวงพ่อพระใส โดยก่อนที่จะจุดบั้งไฟจะมีการจุดบั้งไฟเสี่ยงทายก่อนทุกครั้ง เพื่อดูความอุดมสมบรูณ์ และความร่มเย็นเป็นสุขของชาวหนองคายในปีนั้นๆ ก่อนจะถึงวันงานหรือวันเอาบุญ ชาวบ้านก็จะช่วยกันเตรียมงานกันอย่างสามัคคี ฝ่ายแม่ครัวก็เตรียมข้าวปลาอาหารไว้เลี้ยงแขกเลี้ยงคน ฝ่ายช่างฟ้อนก็เตรียมขบวนรำเซิ้งไว้สำหรับแห่บั้งไฟ ฝ่ายผู้ชายที่เป็นช่างฝีมือก็ช่วยกันทำบั้งไฟเอ้และตกแต่งให้สวยงาม งานบุญบั้งไฟจะมีพิธีทำบุญเลี้ยงพระในวันโฮม จากนั้นจะตั้งขบวนเพื่อแห่บั้งไฟไปรอบๆ ตัวเมือง ส่วนวันจุดบั้งไฟในการจัดงานปี 2548 มีถึง 9 วัน คือตั้งแต่วันที่ 22 ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2548 บุญบั้งไฟทำให้ชาวหนองคายมีกิจกรรมร่วมกัน มีความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วนการทำบั้งไฟนั้น จะมีช่างที่ทำแต่ละหมู่บ้านเรียกกันว่า “คณะ” เช่น คณะหงส์ก๋วยเตี๋ยว คณะคนล่าฝัน คณะฟ้ามืด คณะแพรวพรรณคนโก้ คณะเจ๊นางสั่งเกิด เป็นต้น (ธวัชชัย  เพ็งพินิจ:2548)

ที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดหนองคาย / โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ประเพณีวัฒนธรรมผู้ไท บุญบั้งไฟตะไลล้าน จังหวัดกาฬสินธุ์

ป้ายกำกับ

,

จังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดงานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไท บุญบั้งไฟตะไลล้าน (ปลอดเหล้า ปลอดภัย ปลอดการพนัน) ประจำปี 2565 พร้อมเปิดตัวตะไล 10 ล้านครั้งแรกในรอบ 2 ปี ชวนคนไทยร่วมชมความมหัศจรรย์หนึ่งเดียวในโลก ที่ ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

งานประเพณีวัฒนธรรมผู้ไท บุญบั้งไฟตะไลล้าน (ปลอดเหล้า ปลอดภัย ปลอดการพนัน) ประจำปี 2565 ขึ้น เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ตามฮีต 12 คอง 14 ซึ่งเป็นประเพณีเกี่ยวกับการบูชาพญาแถน สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งฝน ก่อนที่จะลงมือทำการเกษตร โดยไฮไลต์อยู่ที่การจุดบั้งไฟตะไลแสน ตะไลล้าน โดยเฉพาะตะไล 10 ล้าน หลังว่างเว้นการจัดงานมา 2 ปี เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

สำหรับประเพณีวัฒนธรรมผู้ไท บุญบั้งไฟตะไลล้านของชาว ต.กุดหว้านั้น ประดิษฐ์จากภูมิปัญญาชาวผู้ไทกุดหว้า ที่สืบสานมาหลายชั่วอายุคน โดยมีการพัฒนารูปแบบและน้ำหนัก มาประมาณกว่า 30 ปี โดยเริ่มจาก ตะไลหมื่น ตะไลแสน และตะไลล้าน ความโดดเด่นของบั้งไฟชาว ต.กุดหว้า จะแตกต่างจากพื้นที่อื่นของภาคอีสาน เพราะโดยปกติบั้งไฟจะทำเป็นรูปทรงกระบอก จุดชนวนดินปืนตรงส่วนท้ายเพื่อให้บั้งไฟพุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า แต่บั้งไฟ หรือตะไล ที่นี่จะเป็นทรงวงกลมคล้ายล้อเกวียน ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าให้แบน ซึ่งมีหน้าที่บังคับบั้งไฟ จุดชนวนจากกลางลำ โดยจะเจาะรูเชื้อเพลิงให้ออกด้านข้างลำตัวของบั้งไฟ ทำให้บั้งไฟหมุนขึ้นท้องฟ้าอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 จะเริ่มจุดบั้งไฟตะไลแสนตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป
โดยจะมีบั้งไฟตะไลแสน เข้าทำการจุดแข่งขันตลอดวัน จำนวน 55 บั้ง, บั้งไฟตะไล 2 ล้าน จำนวน 2 บั้ง และบั้งไฟตะไล 10 ล้าน จำนวน 1 บั้ง

ที่ตำบลกุดหว้า อ. กุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ จะมีการจัดงานบั้งไฟตะไลล้านในช่วงเดือนพฤษภาคม บั้งไฟตะไลจะมีความยาวประมาณ 9 – 12 นิ้ว รูปร่างกลมมีไม้บางๆ แบน ๆ เป็นวงกลมรอบหัวท้ายของบั้งไฟ เวลาพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าจะพุ่งไปโดยทางขวาง ซึ่งเป็นการสร้างเอกลักษณ์ที่ต่างจากพื้นที่อื่น เพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนเข้ามาท่องเที่ยว ที่ตำบลกุดหว้า จะมีชาติพันธุ์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีสโลแกนว่าเป็นบั้งไฟผู้ไท ซึ่งในวัฒนธรรมผู้ไท อรไท ผลดี (2550) ได้อธิบายว่า ประเพณีบุญบั้งไฟก่อนประวัติศาสตร์ของชาวผู้ไท มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่เมืองแถง แคว้นสิบสองเจ้าไท ซึ่งปรากฏหลักฐานในตำนานเรื่องท้าวผาแดง นางไอ่ มาตั้งแต่โบราณ จุดประสงค์ของประเพณีบุญบั้งไฟนั้นนอกจากจะเป็นพิธีกรรมบูชาพระยาแถนเพื่อขอฝนแล้ว ยังเป็นการบูชาพระธาตุเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ซึ่งจะทำกันในเดือนหก เพื่อขอฝนให้ตกลงมาทันการเพาะปลูกข้าวกล้า ประเพณีบุญบั้งไฟตะไลยังมีการจัดที่บ้านอ้อ ต.เมืองหลวง อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ โดยจัดขึ้นในช่วงวันสงกรานต์ของทุกปี เพื่อสืบต่อประเพณีอีสาน และเป็นการต้อนรับผ้าป่าสามัคคีไปในตัวด้วย

ที่มา : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานขอนแก่น
Tourism Authority of Thailand (TAT) Khon Kaen Office

ที่มา : โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย

ป้ายกำกับ

,

ประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย

พระบรมธาตุหริภุญชัย เป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งของจังหวัดลำพูน เป็นจอมเจดีย์องค์หนึ่งในจำนวน 8 แห่งของประเทศไทย เป็นเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สร้างในสมัยพระเจ้าอาทิตยราชพระบรมธาตุหริภุญชัยเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของประชาชนโดยทั่วไป ประเพณีสรงน้ำธาตุ เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ เป็นที่สนใจของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดลำพูนและจังหวัดใกล้เคียง ประเพณีนี้ยึดถือและปฏิบัติมาเป็นประจำทุกปี

วัตถุประสงค์ของประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย มีดังนี้

  1. เพื่อเป็นการสักการะพระบรมธาตุ ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่ของวัดพระบรมธาตุหริภุญชัย และนับเป็นโบราณสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาวลำพูนและชาวพุทธทั่วไป
  2. เพื่อสักการะพระบรมอัฐิธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
  3. เพื่อเป็นการบูชาเสาหลักเมือง ทั้งนี้เพราะประชาชนลำพูนถือว่าเจดีย์พระบรมธาตุหริภุญชัยเป็นเสาหลักเมืองทำพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัยจึงได้ทำบุญเสาหลักเมืองลำพูนด้วย

กิจกรรมสำคัญ
ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย กำหนดจัดขึ้น ณ วัดพระบรมธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เหนือ หรือที่ชาวเหนือเรียกว่า ” วันแปดเป็ง ” (ระหว่างเดือนพฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของภาคกลาง) หรือ” วันวิสาขบูชา ” กิจกรรมที่จัดขึ้น มีทั้งพิธีราษฎร์และพิธีหลวง มีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้

พิธีราษฎร์
เริ่มเวลาประมาณ 7.00 น. คณะศรัทธาประชาชนร่วมประกอบพิธีทำบุญตักบาตรเวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ประจำวิหารทั้งสี่ทิศ คือ พระวิหารหลวง วิหารพระละโว้ วิหารพระเจ้าทันใจและวิหารพระพุทธ พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จพิธีราษฎร์

พิธีหลวง
เริ่มเวลาประมาณ 9.00 น. คณะข้าราชการในจังหวัดลำพูนนำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นำขบวนแห่น้ำสรงพระราชทาน เครื่องสักการะ ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ธูปเทียนของหลวง ผ้าห่มพระธาตุสีแดง ยาวประมาณ 1 เมตร และน้ำศักดิ์บนดอยคะม้อ เริ่มขบวนแห่จากศาลากลางจังหวัดเข้าสู่วัดพระบรมธาตุหริภุญชัยการประกอบพิธีสรงน้ำพระบรมธาตุเริ่มพิธีทางศาสนาอัญเชิญน้ำสรงพระราชทาน น้ำศักดิ์สิทธิ์จากดอยคะม้อชักรอกขึ้นสรงน้ำพระบรมธาตุ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์เจริญชัยมงคลคาถา โดยมีพราหมณ์ 8 คน ประจำอยู่บนเจดีย์พระบรมธาตุ หลังจากนั้นจึงเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปนำน้ำขมิ้นส้มป่อยขึ้นสรงน้ำโดยวิธีชักรอบเช่นกัน เวลาประมาณ 17.00 น. เป็นเสร็จพิธีหลวง อนึ่ง หลังจากเสร็จพิธีสรงน้ำพระราชทานและน้ำศักดิ์สิทธิ์แล้ว จะมีขบวน “ครัวทาน”จากหัววัดต่างๆ แห่เข้าสู่บริเวณพิธีเพื่อนมัสการและสักการะพระบรมธาตุ ทั้งนี้ขบวน ” ครัวทาน” จะตกแต่งเป็นเรื่องทางพระพุทธประวัติหรือมหาชาติที่ให้ข้อคิดคติธรรม

ในขบวนจะประกอบด้วยขบวนตุง ธงทิว การแสดงศิลปพื้นบ้าน การบรรเลงดนตรีพื้นเมืองที่ครึกครื้นสนุกสนานและให้ความบันเทิงแก่ผู้ร่วมพิธี ในภาคกลางคืน เริ่มเวลาประมาณ 18.00 น. พระสงฆ์ประมาณ 20 รูป พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชน ประกอบพิธีเวียนเทียนประทักษิณองค์พระบรมธาตุ 3 รอบและพระสงฆ์แยกย้ายเข้าประจำพระวิหารทั้ง 4 ทิศ เพื่อเจริญพระพุทธมนต์ แสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์สวดเบิกวิหารละ 4 วาร (วาระ) เป็นเสร็จพิธี

คำบูชาพระบรมธาตุหริภุญชัย
สุวัณณะเจติยัง หะริภุญชะยัฏฐัง วะระโมลีธารัง อุรัฏฐิเสฏฐรัง สะทะอังคุลีฏฐัง กัจจายะเนนตินะ ปัตตะปูรัง สีเสนะมัยหัง ปาณะมามิธาตุง อะหังวันทามิสัพพะทา ข้าพเจ้า ขอเอาเศียรเกล้าของข้าพเจ้า นอบน้อมพระธาตุ อันเป็นเจดีย์ทอง ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหริภุญชัย คือ พระอัฏฐิเบื้องพระทรวงอันประเสริฐ กับทั้งพระอัฏฐิพระองคลี และพระธาตุย่อยเต็มบาตรหนึ่ง อันพระกัจจายะนะนำมา ข้าพเจ้าขอวันทาในกาละทุกเมื่อแล

ที่มา : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน

ประเพณีบุญบั้งไฟล้าน ตำนานม้าคำไหล จังหวัดอุดรธานี

ป้ายกำกับ

,

ประเพณีบุญบั้งไฟล้าน ตำนานม้าคำไหล จังหวัดอุดรธานี

งานบั้งไฟล้าน ตำนานม้าคำไหล เป็นงานบุญบั้งไฟของชาวบ้านธาตุมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยจะจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 ของทุกปี เพื่อถวายแด่องค์พระศรีมหาธาตุ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ชาวตำบลบ้านธาตุ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี และชาว ต.สองห้อง อ.เมือง จังหวัดหนองคาย

ประเพณีบุญบั้งไฟล้านตำนานม้าคำไหล จังหวัดอุดรธานี

ซึ่งการจุดบั้งไฟที่นี่เป็นการจุดเพื่อเป็นพุทธบูชา ถวายแด่องค์พระศรีมหาธาตุ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง โดยต่างจากที่อื่นที่จุดบูชาพญาแถนเพื่อขอฝน

สำหรับกิจกรรมภายในงานประเพณีบุญบั้งไฟล้านตำนานม้าคำไหล ประกอบด้วย กิจกรรมต่างๆ การประกวดธิดาบั้งไฟล้าน การประกวดธิดาจำแลง การแสดงพื้นบ้าน การจุดบั้งไฟล้าน บั้งไฟแสน บั้งไฟหมื่น ที่ หนองศรีเจริญ ตำบลบ้านธาตุ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี

การจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟล้านตำนานม้าคำไหลจะจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม

ที่มา : สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุดรธานี

ประเพณีบุญบั้งไฟมหกรรมผ้าไหมบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ

ป้ายกำกับ

,

ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นงานบุญประเพณีของชาวไทยอีสานที่นิยมจัดในช่วงต้นฤดูฝน ด้วยความเชื่อว่าบุญบั้งไฟเป็นการบูชาพญาแถน บูชาอารักษ์หลักเมือง เพื่อขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล การจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ จึงแสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ยังคง ถือปฏิบัติอยู่ เนื่องจากเชื่อว่า หากปีใดงดบุญบั้งไฟ จะทำให้ท้องถิ่นของตนเกิดเภทภัย หากทำบุญดังกล่าวแล้ว ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้าน จะอยู่เย็นเป็นสุข

ประเพณีบุญบั้งไฟมหกรรมผ้าไหมบึงบูรพ์

ประเพณีบุญบั้งไฟมหกรรมผ้าไหมบึงบูรพ์ เป็นงานประเพณีที่อำเภอบึงบูรพ์จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยกำหนดเอาเสาร์แรกของเดือนมิถุนายนเป็นวันจัดงาน และผนวกเอากิจกรรมเกี่ยวกับผ้าไหมเข้าไว้ในงานประเพณีบุญบั้งไฟด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของท้องถิ่นและส่งเสริมให้มีการพัฒนาการผลิตผ้าไหมซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของอำเภอบึงบูรพ์ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น

ที่มา : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ

ประเพณีแข่งเรือยาว จังหวัดน่าน

ป้ายกำกับ

,

ประเพณีการแข่งเรือยาวของเมืองน่าน เป็นประเพณีที่เก่าแก่สืบเนื่องกันมาแต่โบราณกาล การจัดแข่งจะจัดกันเองในหน้าน้ำ ในเทศกาลตานก๋วยสลาก (สลากภัต) แต่ละวัดก็จะนำเรือของตนเข้าแข่งเพื่อเปนการสมานสามัคคีกัน

ลักษณะของเรือแข่ง ซึ่งเป็นเรือของคณะศรัทธาวัดต่างๆ มีลักษณะที่แตกต่างไปจากเรือแข่งในจังหวัดอื่น ๆคือ
– ลำเรือใช้ไม้ซุงขุดเป็นร่องเรือชะล่า แต่รูปร่างเพรียวเหมาะสำหรับใช้เป็นเรือแข่ง
– ฝีพาย ลำหนึ่งจะใช้ฝีพายประมาณ 36-55 คน นั่งกันเป็นคู่ๆ ส่วนนายท้ายจะยืน
– รูปร่างของหัวเรือจะำทำเป็นรูปพญานาคราช ชูคอสูงสง่างาม บางลำทำเป็นรูปพญานาคอ้าปากกว้างเห็นฟันขาว มีเขี้ยวขาว น่าเกรงขาม ดวงตาโปนแดง หางทำเป็นหางพญานาคติดพู่ห้อยที่หัวเรือและหางเรือ และมีธงทิวประจำ ติดเป็นสีต่างๆ กัน

เอกลักษณ์ของเรือเมืองน่าน ไม่เหมือนจังหวัดใดในประเทศไทยคือ เป็นเรือที่ขุดจากไม้ตะเคียนหรือตะเคียนทองทั้งต้น โดยเชื่อกันว่า มีความทนทานและผีนางไม้แรง

ก่อนจะถึงเวลาแข่งเรือ เรือแข่งแต่ละลำจะแล่นเลาะขึ้นล่องอยู่กลางลำน้ำเพื่ออวดฝีพายและความสวยงามใหประชาชนได้เห็นเสียก่อน ในเรือแข่งจะมีฆ้อง กลอง ฉิ่ง ฉาบ ตีกันเป็นจังหวะดังไปทั่วท้องน้ำน่าน เป็นที่สนุกสนานและน่าดูยิ่งนัก สถานที่สำหรับทำการแข่งขันเรือ ก็ใช้ลำน้ำน่าน หน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดน่านเป็นสนามแข่งขัน

ปัจจุบัน การแข่งเืรือเมืองน่าน ได้กลายมาเป็นวัฒนธรรมบ่งบอกถึงประเพณีของท้องถิ่น ความสามัคคี ศิลปะ สุขภาพอนามัยของชาวบ้าน หากหมู่บ้านใดมีชาวบ้านร่างกายแข็งแรง เรือของหมู่บ้านนั้นก็มักจะชนะ หากหมู่บ้านใดมีผู้มีความคิดสร้างสรรค์ มีศิลปะ เรือของหมู่บ้านนั้นก็จะชนะประเภทสวยงามเช่นกัน

การแข่งเรือที่ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในเทศกาลแข่งเรือจังหวัดน่าน ก็คือ การแข่งเรือนัดชิงถ้วยพระราชทาน ซึ่งจะมีงานถวายพระกฐินพระราชทาน ทอดถวายที่วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ซึ่งจะจัดในราว เดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ของทุกปี ที่ลำน้ำน่าน บริเวณสะพานพัฒนาภาคเหนือ ระยะทางประมาณ 650 เมตร ที่เรือพายแข่งกันตามลำน้ำลงมา

ที่มา : ลานนาทัวร์ริ่ง

ประเพณีตักบาตรดอกไม้ จังหวัดสระบุรี

ป้ายกำกับ

,

ตักบาตรดอกไม้หนึ่งเดียวในโลก เมื่อย่างเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ความชุ่มชื้น บนเชิงเขาสุวรรณบรรพต จรดเทือกเขาวงใกล้รอยพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เป็นจุดเริ่มต้นความสวยงาม ของมวลหมู่พันธุ์ไม้ หลากสีสัน เมื่อย่างเข้าสู่ช่วงวันเข้าพรรษาของทุกปี ดอกไม้ชนิดหนึ่ง จะบานสะพรั่งขาวนวลบริสุทธิ์ ท่ามกลางความเหลืองอร่ามปะปนสีม่วง แลดูสบายตาเหนือไหล่เขาสุวรรณบรรพตและเทือกเขาวง ชาวบ้าน เรียกดอกไม้ชนิดนี้ ว่า “ ดอกเข้าพรรษา ” ซึ่งเป็นสื่อกลางระหว่าง พุทธศาสนิกชนเพื่อส่งพุทธบูชา ศรัทธา แก่พระพุทธองค์ผ่านประเพณีตักบาตรดอกไม้ เนื่องในวันเข้าพรรษา ประเพณีตักบาตรดอกไม้ ของชาวพุทธจะถือเอาวันเข้าพรราของทุกปี (ตรงกับแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ) เป็นวัน ตักบาตรดอกไม้ โดยในตอนเช้าชาวพุทธทั้งผู้เฒ่า ผู้แก่ และหนุ่มสาวต่างก็จะพากันไปตักบาตรข้าวสุก แด่พระภิกษุสงฆ์ที่ศาลาการเปรียญวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารกันอย่างพร้อมเพรียงด้วยใจศรัทธา

เมื่อกลับจากการทำบุญตักบาตรข้าวสุกแล้วบรรดาหนุ่มๆ สาวๆ ก็จะพากันออกไปเก็บดอกไม้ เพื่อเตรียมเอาไว้ใส่บาตร โดยเฉพาะดอกไม้ที่ออกไปเก็บนั้นก็จะต้องเป็น “ดอกเข้าพรรษา” ซึ่งเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่ง ต้นคล้ายๆ ต้นกระชาย หรือ ขมิ้น สูงประมาณ 1 คืบเศา ส่วนสีสันของ ดอกไม้เข้าพรรษานี้ บางต้นก็ผลิดอกสีเหลือง บางต้นก็สีขาว และบางต้นก็สีน้ำเงินม่วง ต้นดอกไม้เข้าพรรษานี้จะขึ้นตาม ไหล่เขาโพธิ์ลังกา หรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวงและ เขาพุใกล้ๆ กับพระพุทธบาทที่น่าแปลกอยู่อย่างหนึ่ง สำหรับต้นดอกไม้ชนิดนี้ก็คือการผลิดอก ถ้ามิใช่ฤดูกาลเริ่มเข้าพรรษา เช่น หน้าร้อน หน้าหนาว อย่างนี้ ต้นเข้าพรรษา จะไม่ผลิดอกออกมาให้เห็น จนชาวบ้านขนานนามให้เป็นที่เหมาะสมว่า “ต้นเข้าพรรษา”

ดอกไม้เข้าพรรษาที่ชาวพุทธออกไปเก็บนั้น ดอกสีเหลือง ดอกสีขาว ดูจะหาง่ายไม่ลำบากยากเย็นนัก แต่การเก็บดอกไม้เข้าพรรษาสีม่วงเขาถือกันว่าถ้าใครออกไปเก็บดอกไม้เข้าพรรษาสีม่วงมาใส่บาตรได้ คนนั้นจะได้รับบุญกุศลมามายกว่าการนำดอกไม้สีอื่นๆ มาใส่บาตร

ประเพณีตักบาตรดอกไม้ เป็นประเพณีสำคัญที่อยู่คู่กับ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารมาช้านาน พี่น้องประชาชนชาวพระพุทธบาท และใกล้เคียง จะถือเอาวันเข้าพรรรษาของทุกปีเป็นวันตักบาตรดอกไม้ และตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา จังหวัดสระบุรี ได้เพิ่มจำนวนวันตักบาตรดอกไม้ จาก 1 วัน เป็น 3 วัน มีพิธีตักบาตรดอกไม้วันละ 2 รอบ คือ รอบเช้า และรอบบ่าย ในวันแรกของการจัดงานเป็นพิธีบวงสรวงบุคคลหลายวัยด้วยกัน ดวงพระวิญญานสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่ในอาณาบริเวณพระพุทธบาท ขบวนพยุหยาตราสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ขบวนรถบุปผชาติ การแสดงศิลปะพื้นบ้าน วัฒนะธรรม และขบวนต่างๆ จะเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากหน้าสำนักงานเทศบาลเมืองพระพุทธบาท ไปตามถนนพหลโยธิน และเลี้ยวเข้าบริเวณวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร โดยจะมีพิธีเปิดงานเสร็จแล้วจะเป็นพิธีตักบาตรดอกไม้ โดยดอกไม้ที่ใช้ตักบาตรแด่พระภิกษุสงฆ์นั้นจะต้องเป็น “ดอกเข้าพรรษา”

หลังจากที่พระภิษุสงฆ์เดินรับบิณฑบาตรจากพุทธศาสนิกชนแล้ว จะนำดอกไม้ไปสักการะ “รอยพระพุทธบาท” พระเจดีย์จุฬามณี อันเป็นพระเจดีย์ที่บรรจะพระเขี้ยวแก้วจำลอง ของพระสัมมนาสัมพุทธเ้จ้า แล้วนำไปสักกการะพระเจดีย์มหาธาตุองค์ใหญ่ ซึ่งชาวพุทธถือว่าเป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระเจดีย์องค์นี้ทรงเหมือนกับองค์พระธุาตพนม พนม เป็นการคารวะต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และในระหว่างที่พระภิกษุสงฆ์เดินลงจากพระมณฑปนั้น พุทธศาสนิกชนจะนำเอาน้ำสะอาดมาล้างเท้าพระำภิกษุสงฆ์ ซึ่งถือว่าน้ำที่ได้ชำระล้างเท้าให้พระภิกษุสงฆ์นั้นเสมือนหนึ่งได้ชำระบาปของตนด้วย

“ประเพณีตักบาตรดอกไม้” นับเป็นประเพณีอันเก่าแก่ ที่ควรค่าแห่งการอนุรักษ์ยิ่ง เพราะหนึ่งปีมีหนึ่งครั้ง และมีเพียงแห่งเดียวที่พระพุทธบาท นอกจากชาวพุทธศาสนิกชน จะได้บุญกุศลอันยิ่งใหญ่กับการถวายดอกเข้าพรรษาแด่พระภิกษุสงฆ์ แล้วยังตื่นตาตื่นใจกับขบวนรถบุปผชาติ และการแสดงศิลปพื้นบ้านด้วย ที่ขาดเสียมิได้คือ ความงดงามของดอกเข้าพรรษาที่บานสะพรั่งทั่วทั้งวัดพระพุทธบาท ตั้งแต่เช้าตรู จนกระทั่งตะวันเคลื่อนคล้อยลอยลงต่ำ หลังมณฑปพระพุทธบาทแลลับทิวเขาสุวรรณบรรพตไป

ที่มา : สมาคมการท่องเที่ยวสระบุรี

งานประเพณีการละเล่นผีตาโขน จังหวัดเลย

ป้ายกำกับ

,

ผีตาโขนคือขบวนแห่ใส่หน้ากาก ซึ่งพิธีฉลองจัดขึ้นในวันแรกของพิธีทำบุญ 3 วัน เรียกว่า “บุญพระเวส” ในภาษาไทย เทศกาลประจำปีนี้จะมีขึ้นในเดือน พฤษภาคม มิถุนายน หรือ กรกฎาคม ที่เมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง ชื่อด่านซ้าย ในจังหวัดเลยของภาคอีสาน

ผู้เข้าร่วมในพิธีนี้จะแต่งกายคล้ายผีและปีศาจใส่หน้ากากขนาดใหญ่ ทำจากต้นมะพร้าวแกะสลักและสวมศรีษะด้วยกระติ๊บข้าวเหนียว ในขบวนแห่จะประกอบไปด้วยการร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน

ต้นกำเนิดของพิธีผีตาโขนไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด แต่ก็พอที่จะท้าวความไปยังตำนานทางพุทธศาสนาได้ว่า ในชาติก่อนหน้าที่จะถือกำเนิดมาเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงถือกำเนิดเป็นเจ้าชาย ผู้เป็นที่รักยิ่งของทวยราษฎร์ ทรงพระนามว่า พระเวสสันดร กล่าวกันว่าพระองค์ทรงเสด็จออกนอกพระนครไปเป็นเวลานานเสียจนเหล่าพสกนิกรของพระองค์ลืมพระองค์ไปแล้ว และยังคิดว่าพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ไปเสียแล้วด้วยซ้ำไป แต่จู่ ๆ พระองค์ก็เสด็จกลับมา พสกนิกรของพระองค์ต่างปลื้ม ปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงพร้อมใจกันเฉลิมฉลองการเสด็จกลับมาอย่างเอิกเกริกส่งเสียงดังกึกก้อง จนกระทั่งปลุกผู้ที่ตายไปแล้วให้มาเข้าร่วมสนุกสนานรื่นเริงไปด้วย

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาต่างพากันมาร่วมระลึกนึกถึงเหตุการณ์นี้ด้วยการจัดพิธีต่าง ๆ การเฉลิมฉลองและการแต่งกายใส่หน้ากากคล้ายภูตผีปีศาจ แต่เหตุผลที่แท้จริง เบื้องหลังพิธีนี้ก็อาจจะเนื่องมาจากความจริงที่ว่าชาวนาต้องการกระตุ้นฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล และเพื่อเป็นการให้ศีลให้พรแก่พืชผลอีกด้วย

ในวันที่ 2 ของงานบุญนี้ ชาวบ้านจะร้องรำทำเพลงไปตามทางสู่วัด แล้วจึงจุดบั้งไฟเพื่อส่งสัญญาณให้รู้ว่า ขบวนแห่ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว นอกจากนี้ผู้ที่จัดงาน ก็ยังจัดให้มีการประกวดหน้ากากที่สวยงามที่สุด การแต่งกายและผู้ที่รำสวย แล้วยังมีการแจกโล่ห์ทองเหลืองแก่ผู้ชนะในแต่ละวัยอีกด้วย แต่สิ่งที่ชื่นชอบกันมากที่สุด ก็เห็นจะเป็นการแข่งขันเต้นรำ และเมื่อวันสุดท้ายของงานบุญมาถึง ชาวบ้านก็จะไปรวมกันที่วัดโพนชัย เพื่อฟังพระธรรมเทศนา 13 กัณฑ์ แสดงโดยพระภิกษุวัดนั้น

และแล้ววันเวลาแห่งการถอดหน้ากากปีศาจและเครื่องแต่งกาย เพื่อสวมใส่ในปีต่อไปก็มาถึง นับจากนี้ไปพวกเขาต้องกลับไปสู่ท้องนาอีกครั้ง โดยการทำนาเพื่อหาเลี้ยงชีพ ตามอย่างบรรพบุรุษของตนที่สืบทอดกันมา

ที่มา : สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเลย